สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

  

รวงผึ้ง             

Schoutenia glomerata King subsp. peregrina (Craib) Roekm.             

วงศ์ : MALVACEAE

ชื่ออื่น : ดอกน้ำผึ้ง น้ำผึ้ง (ภาคเหนือ) สายน้ำผึ้ง (ภาคกลาง), Yellow star                                                                                                                                           

                                  

 

 

 

 

 

  

 

 

                            

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 1.5–3 เซนติเมตร ยาว 4–9 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนใบสอบเบี้ยว เส้นใบแตกจากโคนใบ 3 เส้นชัดเจน แผ่นใบด้านล่างออกสีเหลือบ ดอก สีเหลืองเข้ม ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงส่วนโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉกคล้ายรูปดาว ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้สีเหลือง จำนวนมาก ผล ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วไป ที่ส่วนปลายของผลมีจะงอยของเกสรเพศเมียติดอยู่ และมีกลีบเลี้ยงแห้งติดอยู่ที่โคนผล   

                           

การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : พบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ–ปุย บริเวณป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร เคยเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย (ไม่พบในต่างประเทศ) ต่อมามีรายงานการพบในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่จังหวัดนครสวรรค์ สกลนคร และนครพนม และยังพบในกัมพูชาอีกด้วย ปัจจุบันรวงผึ้งมีสถานภาพเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered; CR) ออกดอกและติดผลช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม


รวงผึ้ง ไม่ได้เป็นพรรณไม้ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อย่างเป็นทางราชการ เนื่องจากยังไม่พบเอกสารยืนยันจากสำนักพระราชวัง สำนักนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานราชการอื่นแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นพรรณไม้ที่พระองค์ท่านทรงโปรด และในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงวันคล้ายวันพระราชสมภพ รวงผึ้งจะผลิดอกบาน สีเหลืองสดสะพรั่งสวยงามไปทั้งต้นในช่วงนั้นพอดี                                                                                                                                                                 

รวงผึ้งเป็นไม้ต้นที่นิยมปลูกในเดือนสำคัญของประเทศ จัดเป็นพืชในวงศ์ Malvaceae โดย สกุล Schoutenia เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Tiliaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Dombeyoideae ของวงศ์ Malvaceae มี 8 ชนิด พบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมี 5 ชนิด อนึ่ง รวงผึ้ง S. glomerata King subsp. peregrina (Craib) Roekm. เป็นไม้ต้น มีการกระจายพันธุ์บริเวณดอยสุเทพ ที่ราบลุ่มทางภาคกลาง และกัมพูชา ใบขนาดเล็กกว่า subsp. glomerata ที่พบในคาบสมุทรมลายู และบอร์เนียว


ชื่อสกุลตั้งตามนักสำรวจชาวดัตช์ Willem Corneliszoon Schouten (1567-1625)

การเขียนชื่อควรเขียนตามหลักการเขียนชื่อทางวิทยาศาสตร์ (ตัวอย่างตามภาพป้ายชื่อต้นไม้)

Roekmowati-Hartono เป็นชื่อของนักพฤกษศาสตร์ชาวดัชต์ที่ได้ศึกษาทบทวนพืชในสกุลแดงสะแง (Schoutenia) โดยยุบชื่อรวงผึ้ง Schoutenia peregrina Craib มาเป็นชนิดย่อย subsp. peregrina (Craib) Roekm.                                                                                                                                    

ปล.
1. Roekm. เป็นชื่อย่อ Author ของ Roekmowati-Hartono 
2. ในเอกสารบางเล่มมักพบว่า มีการย่อชื่อ Author ผิดพลาดเป็น Roekm.& Hartono ซึ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นการร่วมกันตั้งชื่อของคนสองคน

     

ประโยชน์ : นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ทั้งรูปทรงและดอกสวยงาม

      

ขยายพันธุ์โดย : การเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง


อ้างอิง :  Hartono, R. (1965). A monograph of the genus Schoutenia Korth. (Tiliaceae). Reinwardtia Vol. 7(2): 91-138.


























                                          



view